รำผีฟ้า

ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าพ่อพระยาแล  เจ้าเมืองคนแรกของเมืองชัยภูมิ ชาวชัยภูมิเชื่อว่าท่านพลีชีพตนเองเพราะไม่ยอมทรยศต่อแผ่นดินไทย จึงเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน และราชวงศ์จักรี จนมีคำขวัญของจังหวัดว่า "ชัยภูมิ เมืองผู้กล้าพญาแล" 
                ตามคติของการเชื่อผีบรรพบุรุษ ชาวชัยภูมิยังเชื่อว่าดวงวิญญาณของท่านยังคอยปกปักคุ้มครองเมืองชัยภูมิ ให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นตลอดมา 
                ความเชื่อเกี่ยวกับปู่ด้วง ย่าดี  ในพิธีกรรมเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องเชิญท่านทั้งสองมาเป็นอาจารย์ในพิธีกรรมเสมอ ผู้คนถือว่าท่านคือผู้คุ้มครองสรรพสิ่งในขุนเขาภูแลนคาให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข จะพบศาลปู่ด้วงตั้งกระจัดกระจายอยู่หลายแห่งบนเทือกเขาภูแลนคาจนมีคำกล่าวว่า "ปู่ด้วง เจ้าแห่งขุนเขาภูแลนคา" 
                ส่วนย่าดี เป็นผู้เกิดหลังปู่ด้วงเสียชีวิตแล้วประมาณ ๒๐ ปี ได้ไปจำศีลภาวนา ณ บริเวณที่ปู่ด้วงเคยอยู่ และปฏิบัติตนเช่นเดียวกับปู่ด้วง บริเวณนั้นจึงเรียกว่า หมู่บ้านเก่าย่าดี อยู่ในเขตอำเภอแก่งคร้อ 
                ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าองค์ตื้อ  พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยลพบุรี ชาวชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียง เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ประรถนาได้ 
                ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษหรือเจ้านาย  เป็นความเชื่อในอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติที่ปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง และผู้คนให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยการติดต่อผ่านคนทรง คนทรงจึงมีบทบาทเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ บุคคลที่ประกอบพิธีกรรมกลุ่มนี้ได้แก่ บัวนางหรือนางเทียม และข้าเฝ้าจะมีสองฝ่ายคือ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ฝ่ายชายเรียกว่า แสน ฝ่ายหญิงเรียกว่า นางแต่ง

                        

ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีการลำผีฟ้า  ตามปกติชาวอีสานจะทำพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับผีฟ้าหลายลักษณะ เช่น ทำบุญบั้งไฟในเดือนหก การเลี้ยงผีฟ้าในเดือนสาม หรือการลำผีฟ้าเพื่อรักษาผู้ป่วย เป็นต้น 
                องค์ประกอบการลำผีฟ้าจะมีสี่ส่วนคือหมอลำผีฟ้า (หมอจ้ำหรือกก)  หมอแคน (หมอม้า)  ผู้ป่วยและเครื่องคาย กระบวนการลำจะเริ่มโดยการที่ครูบา (หมอลำผีฟ้า) กล่าวคำไหว้ครูและเสี่ยงทายอธิษฐานว่าจะหายจากโรคหรือไม่ 
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น 
            ประเพณีที่คนในท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติ มีประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมา เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อในพระพุทธศาสนาความเชื่อเรื่องผี และความเชื่อเรื่องพราหมณ์ จำแนกเป็นประเพณีเกี่ยวข้องกับชีวิต ประเพณีการเกษตรและฮีตสิบสอง

รูปแบบทางสังคมอื่น ๆ  ชาวบน (ญัฮกรู หรือ เนียะกุล) เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขาหรือเนินเขาเตี้ย ๆ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา และเพชรบูรณ์บริเวณที่ติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิ 
            ชาวบนนิยมเลือกคู่ครองในหมู่เดียวกัน ด้วยการชักนำของผู้ใหญ่แต่ละฝ่าย หรือโดยงานประเพณีประจำปี ชาวบนเลือกคู่ครอง โดยการเน้นนิสัยใจคอ ความขยันขันแข็ง เอาการเอางาน มากกว่ารูปร่างหน้าตาและฐานะครอบครัว 
            ชาวบนดั้งเดิมมีอาชีพหลักในการทำไร่แบบผสมบนที่สูง นิยมปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ปอ มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร เช่น เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย สุนัข เป็นต้น 
            ในอดีต ชาวบนเรียนรู้ภายในครอบครัว เครือญาติ กลุ่มเพื่อน และพระสงฆ์ เรียนรู้จากสุภาษิต คำคม นิทาน เพลง การละเล่น ขนบธรรมเนียมประเพณี 
            ชาวบนมีพิธีเลี้ยงปู่ตา (ผีบรรพบุรุษ) ในเดือนห้า เดือนหก ก่อนพิธีจะใช้ไม้ทำเป็นรูปช้าง ม้า หอก ดาบ ปืน ไว้ที่ศาลเจ้า เมื่อถึงวันเลี้ยง ชาวบนจะมาพร้อมกันที่ศาลา มีการประโคมดนตรี เช่น โทน ปี่แก้ว แคน มีการเข้าทรงผี เซ่นผี

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar